วัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา ของ อาหม

อาหมเป็นชาวไทที่ไม่ได้รับศาสนาพุทธ เมื่อเสือก่าฟ้านำชาวไทจากเมืองเมาหลวงในรัฐฉานจำนวน 90,000 คน ข้ามช่องเขาปาดไก่มาตั้งอาณาจักรในลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรในปี ค.ศ. 1228 และตลอดเวลากว่า 600 ปีที่เป็นเอกราช สังคมอาหมเองก็ไม่ได้รับความเชื่อจากศาสนาพุทธเลย[4][5]

ผีของชาวอาหมเกิดจากธรรมชาติและบรรพบุรุษ โดยอาหมบุราณจีภาคสวรรค์ ได้กล่าวว่า ฟ้า (หรือ ฟ้าตือจึ้ง) เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง เป็นผู้สร้างเลงดอน (หรือ ฟ้าเหนือหัว) ผู้ครองเมืองฟ้า เลงดอนได้ส่งขุนหลวงขุนหลายผู้เป็นหลานลงมาครองเมืองมนุษย์พร้อมกับชาวฟ้าจำนวนหนึ่ง ขุนหลวงขุนหลายจึงเป็นบรรพบุรุษของเสือก่าฟ้า ส่วนชาวฟ้าที่ลงมาด้วยก็เป็นบรรพบุรุษของชาวไท เมื่อขุนหลวงขุนหลายลงมาจากฟ้า ครั้งนั้นบนพื้นดินเองก็มีคนชาติอื่นอยู่แล้ว[4] บนเมืองฟ้าหรือที่ภาษาอาหมเรียกว่า เมืองผี มีเทพหรือผีต่างๆ หลายองค์ ตามที่ปรากฏในอาหมบุราณจี เช่น ฟ้าสางดิน, แสงกำฟ้า (เทพแห่งสายฟ้า), งี่เงาคำ (หรือ ฟ้าบดร่มสางคำ), เจ้าสายฝน, นางแสงดาว, ย่าแสงฟ้า (เทพแห่งปัญญา), แลงแสง, ลาวขรี (เทพแห่งการก่อสร้าง), ขุนเดือน และขุนวัน เป็นต้น[4] ซึ่งจะเห็นได้ว่าผีเหล่านี้เป็นธรรมชาติ คือ ฟ้า ดิน แสง เดือน ตะวัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อผีจากธรรมชาติอีกหลายองค์ เช่น สายลม, ผีไฟ, ผีตามทุ่ง, นางอ้ายดอกคำแดง, ผีเถื่อน (ภาษาอาหมเรียก ป่า ว่า เถื่อนหรือ ดง)[6], ผีขุงชั้นหมอก, ผีขุงชั้นขุงเหมือย, ผีดอย ฯลฯ[7]

นอกจากนี้ชาวอาหมยังนับถือผีบรรพบุรุษด้วย โดยบุราณจีภาคสวรรค์ได้กล่าวถึง แสงก่อฟ้า กษัตริย์พระองค์หนึ่ง เมื่อสวรรคตไปแล้วกลายเป็นผีเรือนคอยดูแลทุกข์สุขของคนในครอบครัว ความว่า "แสงก่อฟ้า...ตายเป็นด้ำผีเรือนช่วยคุ้ม"[8][9] ส่วนอาหมบุราณจีภาคพื้นดินได้กล่าวถึง ผีด้ำ ซึ่งตามพจนานุกรมอาหมแปลว่า คนที่ตายไปแล้ว[10] และคำว่า ด้ำเรือน[11] มีความหมายว่า บรรพบุรุษที่ตายไปแล้วกลายเป็นผีเฝ้าเรือน โดยในอาหมบุราณจีภาคพื้นดิน ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า "เจ้าฟ้าจึงมาเมืองมาตักแขก (เคารพบูชา) ผีด้ำที่ว่านี้"[12] และกล่าวถึงกษัตริย์อาหมประกอบพิธีเมด้ำเมผี[6] ชาวอาหมถือว่าบรรพบุรุษที่เหนือเราไปชั้นแรกๆ หรือผู้ที่ตายไปไม่กี่ชั่วอายุคนจะคอยปกป้องครอบครัวญาติพี่น้องที่ยังอยู่ แต่หากตายไปนานมากแล้วก็จะขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นฟ้าไม่ลงมาช่วยเราอีก[6] โดยความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษที่คอบปกป้องดูแลลูกหลานยังมีอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน ที่มีหิ้งบูชาในเรือน โดยบนหิ้งนั้นถือเป็นที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษหลายซับหลายซ้อน หรือหลายชั่วอายุคนจนนับไม่ได้[6]

ชาวอาหมไม่เคยสูญเสียการบูชาบรรพบุรุษ เพียงแต่หันไปนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุสูญเสียสถานะในการปกครองไปจึงกลายเป็นพวกนอกวรรณะ ปัญญาชนชาวอาหมที่เป็นผู้นำในการเลิกนับถือศาสนาฮินดูได้ทำให้พิธีการบูชาบรรพบุรุษเด่นชัดขึ้น พร้อมทั้งมีการจัดพิธีไหว้ผีเป็นประจำ โดยมีการตั้งหลักไฟ ซึ่งเป็นเสาไม้จุดรายรอบปะรำเล็กๆ ไหว้บรรพบุรุษ รวมไปถึงพิธีบูชาบรรพบุรุษที่เรียกว่า เมด้ำเมผี ครั้งใหญ่ที่สุดในเมืองรังคปุระ[13] แต่ชาวอาหมฮินดูบางส่วนอย่างเช่นในหมู่บ้านบอราโจโหกีจึงมีแนวโน้มหันไปนับถือศาสนาพุทธกันมากขึ้นเพื่อลดปัญหาเกี่ยวกับวรรณะ โดยมีนายทนุราม โกกอย เป็นชาวไทอาหมคนแรกที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ[14] โดยปฏิบัติศาสนกิจกันที่วัดทิสังปานี ในหมู่บ้านทิสังปานี ของชาวไทคำยัง[14]

ปัจจุบันชาวอาหมได้มีความพยายามที่จะฟื้นฟูวัฒนธรรมของตนเองขึ้นใหม่ มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญทางภาษาชาวไทยให้ความช่วยเหลือทางด้านการฟื้นฟูภาษา เพราะในบรรดาเผ่าไททั้งหลายมีไทยสยามที่มีเสถียรภาพทุกด้าน[15] ทั้งยังมีการเสนอว่าหากใช้ภาษาไทยเป็นแกนกลางในการประสานงานคนไททุกเผ่าเข้าด้วยกัน วัฒนธรรมไทก็จะเป็นเอกภาพมากขึ้น ทั้งนี้อาหมไม่ได้ต้องการความบริสุทธิ์ของภาษา แต่ต้องการให้พัฒนาภาษาไทที่พวกเขาจะกลับมาใช้ในชีวิตประจำวัน[15]

มีการสร้างสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวอาหมคือ งีเงาคำ เทพเจ้าของชาวอาหม[16] มีการกลับมาใช้ศักราชเสือก่าฟ้า[16] การใช้คำว่า เจ้า และ นาง นำหน้านาม[16] การตั้งอนุสาวรีย์หล้าเจ็ด ซึ่งเป็นวีรบุรุษชาวอาหม[16] และบางบ้านก็มีการประดับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยไว้ด้วย[16] แต่การฟื้นฟูวัฒนธรรมต้องใช้เวลานาน เนื่องจากอัสสัมเป็นดินแดนปิด และรัฐบาลกลางของอินเดียก็ไม่อยากให้อัสสัมติดต่อกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศไทย[17] เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนประเทศอินเดีย อินเดียก็มิได้จัดให้พระองค์เสด็จแวะเยือนชาวไทในอัสสัม[17] นอกจากนี้ชาวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้าไปอัสสัมจะต้องขอใบอนุญาตพิเศษจากรัฐบาลกลางของอินเดียเสียก่อน[17] ถือเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูวัฒนธรรมอาหมในปัจจุบัน